โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค และ ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ

กระทรวงเจ้าสังกัด

กระทรวงคมนาคม

หน่วยงานเจ้าของโครงการ

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

เอกชนคู่สัญญา

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM)

ระยะเวลาโครงการ

ระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้างมีระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือนและการดำเนินการและบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค 30 ปี

มูลค่าโครงการ

82,369.17 ล้านบาท

รายละเอียดโครงการ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ มีระยะทางรวม           27 กิโลเมตร 19 สถานี ประกอบด้วย

  1. ช่วงหัวลำโพง - บางแค มีระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินช่วงหัวลำโพง - ท่าพระ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นทางวิ่งอุโมงค์คู่รางเดี่ยว โดยมีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานีและโครงสร้างทางวิ่งยกระดับช่วงท่าพระ - บางแค ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 7 สถานี โดยเริ่มต้นจากเส้นทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงของรถไฟฟ้า มหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระราม 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส ผ่านวังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาดลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ และเปลี่ยนเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับแบบรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน เข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ แล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า ภาษีเจริญ บางแค สิ้นสุดที่ถนนกาญจนาภิเษก
  2. ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด มีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน มี 8 สถานี โดยเริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลผ่านแยกเตาปูนซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสาย สีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ เข้าถนนประชาราษฏร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และ สิ้นสุดที่ แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนช่วงหัวลำโพง - บางแค       

นอกจากนี้โครงการมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณถนนเพชรเกษมใกล้กับสถานีเพชรเกษม 48 และมีอาคารจอดรถบริเวณสถานีหลักสอง 2 แห่ง จอดรถได้ประมาณ 1,000 คัน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 รฟม. และ BEM ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนของโครงการ โดยมีรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net cost ที่ให้เอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงจากรายได้ในการให้บริการเดินรถ ทั้งนี้ สัญญาสัมปทานโครงการระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้ด้วย

 

www.mrta.co.th